จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์
วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554
ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีตาม เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2548 ได้กำหนดให้มีหมวดวิชาศึกษาทั่วไปไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต สถาบันอุดมศึกษาอาจจำแนกเป็นรายวิชา หรือลักษณะบูรณาการ หรือผสมผสานเนื้อหาวิชากลุ่มสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ภาษา และกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้บรรลุจุด ประสงค์ของวิชาศึกษาทั่วไป

จุดประสงค์ของวิชาศึกษาทั่วไป เป็นการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีความรู้อย่างกว้างขวาง มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล มีความเข้าใจธรรมชาติ ตนเอง ผู้อื่น และสังคม เป็นผู้ใฝ่รู้ สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารความหมายได้ดี มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงตนอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี

การ ศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้จะประกอบวิชาชีพชั้นสูง และเป็นพื้นฐานของการศึกษาระดับสูงขึ้นต่อไป ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาจะเป็นผู้ที่ทำงานรับผิดชอบบ้านเมืองในตำแหน่ง สำคัญ ๆ เป็นผู้กำหนดนโยบาย ทิศทางการการพัฒนา การแก้ปัญหาของชาติ เป็นผู้มีอิทธิพลในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นพื้นฐานการศึกษาและคุณภาพของการจัดการศึกษา หลักสูตร และการสอนที่สร้างเสริมประสบการณ์ของบุคคลเหล่านั้นจึงมีอิทธิพลต่อความคิด การกระทำ และการแก้ปัญหาของบุคคลที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย บริหารและปฏิบัติการเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ด้วย
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยประสบกับปัญหาอุทกภัยหนักมาก ถือเป็นวิกฤติการณ์ที่ไม่ปกติ การดำเนินการจัดการกับวิกฤติการณ์นี้นอกจากจะเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางสังคมอันเกิดจาก ระบบการสื่อสารที่ทันสมัย รวดเร็ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของพลเมือง และผู้ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ รวมทั้งผู้ปฏิบัติ องค์กรที่มีระเบียบวินัยและมีระดับการบังคับบัญชาที่ชัดเจน ได้แก่ทหาร และตำรวจ และองค์กรภาคเอกชนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจกับประชาชนมากกว่าบางหน่วยงานของข้าราชการ

พลเมือง ไทยทั้งฝ่ายประชาชน และฝ่ายที่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐบาล ล้วนเป็นผู้ผ่านระบบการศึกษาของประเทศไทยเป็นส่วนมาก เมื่อประเทศเกิดวิกฤติการณ์พลเมืองของประเทศยังไม่สามารถประสานพลังความคิด พลังของความสามารถในการปฏิบัติการ และความมุ่งมั่นในการพัฒนารัฐชาติไทยได้มากอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่เป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบกับประเทศชาติโดยตรง ดังนั้นกระบวนวิชาที่ควรนำมาจัดการศึกษาเพื่อการปรับเปลี่ยนความรู้ ทักษะและเจตคติในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปเพื่อแก้ไขคุณลักษณะของพลเมืองในระยะ ยาวจึงควรได้รับการทบทวนและพิจารณาใหม่ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับการเตรี ยมพลเมืองในอนาคตถ้าเกิดต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต

ราย วิชาที่อาจต้องมีการปรับปรุงได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควรมีสัดส่วนที่มากขึ้น เช่นเดียวกับรายวิชาทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับศาสนาและปรัชญาในสัดส่วนที่มากขึ้นเช่นกัน การปรับเปลี่ยนสัดส่วนต่าง ๆ ให้สามารถเสริมสร้างความรู้ ความคิดและทักษะ ที่สามารถเพิ่มสมรรถนะในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขและสามารถร่วมกันแก้ ปัญหาเมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทุกเวลา การดำเนินการดังกล่าวต้องใช้กระบวนการระดมความคิดและการศึกษาวิจัย บนพื้นฐานของความตั้งใจและยอมรับว่าปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทยส่วนหนึ่งมาจากช่องว่างทางความรู้ ความคิด และทักษะต่าง ๆ ที่แต่ละคนมีอยู่

ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยปัจจุบันสร้างผู้ ที่มีความรู้เฉพาะด้าน หรือ Specialist เพื่อให้เป็นวิชาชีพเฉพาะชั้นสูง (Professional) มากกว่าผู้ที่มีความรู้หลายด้านหรือ Generalist และยิ่งเรียนระดับสูงขึ้นยิ่งมีความเป็นเฉพาะมากขึ้นความรู้ทั่วไปที่เป็น พื้นฐานถูกละเลยมากขึ้นตามลำดับ ตัวอย่างเช่น การเข้าเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของประเทศไทยจะเน้นสอบความรู้วิชาเอกและ ภาษาอังกฤษ แต่ในสหรัฐอเมริกาการเรียนต่อระดับบัณฑิตศึกษาต้องผ่านการทดสอบความรู้พื้น ฐานทั่วไปเรียกว่าข้อสอบ GRE หรือ Graduate Record Examination ซึ่งมีการทดสอบสมรรถนะสามด้านหลัก ๆ ได้แก่ Verbal Section ซึ่งเป็นสมรรถนะด้านภาษา Quantitative Section ซึ่งเป็นสมรรถนะด้านการคำนวณและตัวเลข และ Analytical Writing Section ซึ่งเป็นสมรรถนะด้านการเขียน การอ่านบทความ และวิเคราะห์ในประเด็นความสอดคล้องและความขัดแย้งเป็นต้น
นอกจากนั้น ระบบการศึกษาของไทยยังสร้างคุณลักษณะของความเชื่อมั่นในวิชาความรู้หรือ ศาสตร์ของตนเองอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่การแก้ปัญหาในระดับมหภาคนั้น หรือในภาวะวิกฤติระดับชาตินั้นต้องการผู้ที่มีทั้งคุณลักษณะ Generalist และ Specialist หรือต้องการผู้ที่มีความเข้าใจในบริบททั่ว ๆไป และชำนาญเฉพาะเรื่อง

การดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยใน ภาวะวิกฤติอุทุกภัยถือเป็นสิ่งที่รอการสรุปบทเรียน (Lesson Learned) ถอดบทเรียน (Lesson Distilled) เพื่อนำมาใช้เป็นองค์ความรู้และเข้ารหัส (Coding) และสามารถถอดรหัสการพัฒนา (Development Decoded) เมื่อต้องการนำความรู้มาใช้แก้ปัญหาวิกฤติต่าง ๆ การปรับปรุงในหลาย ๆ เรื่อง และรวมทั้งหลักสูตรและการสอนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นหนึ่งในภารกิจของการ ปรับปรุงด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์

2 Responses to “ทิศทางการพัฒนาหมวดวิชาศึกษาทั่วไปเพื่อเผชิญกับวิกฤติการณ์”

  1. ขายนาฬิกา Says:

    ขอบคุณสำหรับเนื้อหาดีๆนะครับ เซฟใว้อ่านต่อนะครับ

  2. ขายนาฬิกา Says:

    ขอบคุณมากๆนะครับ เนื้อหาดีมากๆ จะลองนำไปใช้ดูนะครับ

Leave a Reply