จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

“ดร.สุเมธ” เผย “ในหลวง” ทรงห่วงประชาชนตลอดตราบใดที่ปัญหายังมีอยู่  พร้อมเร่งเดินหน้าแผนรับมือน้ำท่วมให้เสร็จโดยเร็ว แนะผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่าง-ปลูกฝังให้เด็กเยาวชนรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   “มท.” ขีดเส้น 3 เดือน 31 ผู้ว่าฯสนองโครงการเร่งด่วนรัฐบาลป้องน้ำท่วมให้แล้วเสร็จ

 

             ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน วันที่ 2 มี.ค.  ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เปิดเผยภายหลังจาก 1 สัปดาห์ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายรายงานแผนป้องกันน้ำท่วมว่า พระองค์ทรงห่วงปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับประชาชนมา 65 ปีแล้ว จะให้พระองค์ทรงหยุดห่วงได้อย่างไร ดังนั้น เรื่องความห่วงยังทรงห่วงตลอดไปตราบใดที่ปัญหายังมีอยู่ ซึ่งภัยธรรมชาติประสบกันอยู่ทุกภูมิภาคทุกรูปแบบ ทั้งน้ำท่วม ลูกเห็บ ภัยแล้ง ต้องเตรียมพร้อมไม่ประมาท ขณะนี้แผนป้องกันรับมือน้ำท่วมเสร็จแล้ว ก็ต้องเร่งมือทำให้เสร็จโดยเร็ว เพราะเราไม่รู้ว่าน้ำจะมาเมื่อไร ปริมาณเท่าไร

ทั้งนี้ วันที่ 2 มี.ค.นี้ ดร.สุเมธ ได้มอบรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการ “จิ๋วผู้พิชิต ภารกิจกู้โลก” ให้แก่ โรงเรียนบ้านหนองกะท้าว จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งโครงการนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด หวังจะสร้างต้นกล้าเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ดร.สุเมธ กล่าวด้วยว่า แม้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับเยาวชนก็ต้องทำและปลูกฝังให้เห็นตัวอย่างที่ดี ไม่ใช่เห็นแต่ตัวอย่างที่ผู้ใหญ่ตัดไม้ทำลายป่า ทิ้งขยะ รุกล้ำแม่น้ำลำคลอง สำคัญคือเด็กต้องอยู่ด้วยปัญญา ไม่ใช่ความอยาก อารมณ์และตัณหา โลกจึงวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้

มท.ขีดเส้น3เดือน31ผู้ว่าฯสนองโครงการเร่งด่วนรบ.ให้เสร็จ

นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงเกิดโครงการแก้ปัญหาอุทกภัย ที่มีความสำคัญเร่งด่วนเพิ่มเติม หรือ Flagship โดยให้จังหวัดในพื้นที่ดังกล่าว 31 จังหวัดรับผิดชอบ และต้องให้เสร็จภายใน 3 เดือน นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการต่างๆเพื่อให้การทำงานความคล่องตัว ไม่ต้องทำเรื่องมาที่กระทรวงงานที่ทำจะได้ไม่ล่าช้า เพราะฉะนั้น ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างต้องมีความโปร่งใสเป็นธรรม ถือเป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญมาก อย่าให้มีข้อครหา ผู้ว่าฯทุกจริต กินค่าหัวคิว หรือถูกนำไปแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์อย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตามขณะนี้มีหลายพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง จึงเป็นอำนาจของผู้ว่าฯที่จะประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ดังนั้นการใช้จ่ายหรือแจกสิ่งของต่างๆเพื่อบรรเทาความเดือดของชาวบ้านนั้นจึงต้องทำอย่างโปร่งใสเช่นกัน

“หากประชาชนพบความไม่โปร่งใสต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ สามารถโทรมาแจ้งที่สายด่วน 1567 ของศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ที่แจ้งไม่จำเป็นต้องบอกชื่อนามสกุลเพื่อการตรวจสอบทุจริตมีหลายช่องทางมากขึ้น จึงอยากเห็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ภาคประชาชน ในระดับจังหวัด และอำเภอ โดยต้องผ่านการอบรมจากปปช.ส่วนกลางก่อน เพราะเห็นว่าประชาชนก็เป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ” นายประชา กล่าว

 

“ยิ่งลักษณ์”เตรียมชงครม.ไฟเขียวตั้งงบฯปรับปรุงการเตือนภัยประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6 มี.ค. ที่จะถึงนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์  จะเสนอการตั้งงบประมาณของเเผนงานปรับปรุงระบบการเตือนภัยของประเทศภายใต้กยน. ไว้ที่สำนักปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ จะเสนอร่างพรบ.มาตราชั่งตวงวัด

พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯเสนอ การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการThe Canada- Asia Regional Emerging Infectious Diseases เเละเสนอเเผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์พ.ศ.2555-57(เเผนระยะสั้น)ตามพรบ.คุ้มครองเเละส่งเสริมภูมิปัญญาการเเพทย์เเผนไทยพ.ศ.2542เพิ่มเติม

“สุขุมพันธุ์”ปัดกทม.ขุดลอกคลองทั่วกรุงอืด

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานพิธีมอบเงินให้ความช่วยเหลือชุมชนที่ประสบอุทกภัย กองทุนร่วมสร้างกรุงเทพมหานคร รวมกันเราทำได้ พร้อมกล่าวถึงความคืบหน้าการขุดลอกคลองในพื้นที่กทม.ว่า ไม่ได้ล่าช้า เพราะแต่ละเขตก็เร่งเดินหน้า คาดว่าคลองหลักๆ และท่อระบายน้ำในเส้นทางสำคัญจะเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมแน่นอน

“การลอกคลองไม่ได้อืด ผมไม่เคยบอกว่าทุกคลองในพื้นที่จะสร็จภายในเดือนพฤษภาคม แต่ที่ต้องเร่งดำเนินการคือคลองสำคัญและท่อระบายน้ำในเส้นทางหลัก ที่ต้องเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว

กมธ.สธ.วุฒิ-สสส.จัดถกรับมือปัญหาสุขภาพภาวะน้ำท่วม

คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาสุขภาพของคนไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และโครงการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กรทางนิติบัญญัติ จัดสัมมนา “ถอดบทเรียนน้ำท่วม 2554 : เตรียมรับมือปัญหาสุขภาพ” โดยมีวิยากรจากหลายองค์กรมาร่วมแสดงความเห็น

พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ อภิปรายในหัวข้อ “ผลกระทบต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากน้ำท่วม” ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้สูงกว่า 1,000 ราย สาเหตุจากการจมน้ำตาย และโดนไฟฟ้าช็อต ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถวางแนวทางป้องกันได้ รวมถึงควรทบทวนหลักสูตรการว่ายน้ำเพื่อให้คนไทยมีทักษะในการป้องกันตนเองจากภัยธรรมชาติ  จึงเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องวางแนวทางป้องกันในอนาคต หากชุมชนสามารถรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง มีการสื่อสารที่ดีจะสามารถต่อสู้กับภัยธรรมชาติได้ดีกว่า

รศ.วิจิตร ฟุ้งลัดดา หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  ควรมีการสื่อสารให้ประชาชนมีวิธีป้องกันตนเองจากการสัมผัสน้ำเน่าเสียโดยตรง เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและส่งผลให้เกิดปัญหา สุขภาพตามมา

นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของการจัดระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งเป็นสิทธิขั้น พื้นฐานที่ต้องจัดให้กับประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ควรมีการเตรียมความพร้อมไม่ใช่พอน้ำมาแล้วจึงค่อยมาเตรียมความพร้อม สิ่งสำคัญในกรณีที่เกิดภัยพิบัติต้องมีระบบตรวจจับถ้าระบบตรวจจับไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาเรื่องข้อมูลคลาดเคลื่อน

ขณะที่ นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาสุขภาพจิตในภาวะน้ำท่วมออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้สูงอายุที่พบว่ามีความเสี่ยงมาก 2. กลุ่มที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือคนพิการที่ความแข็งแรงทางสภาพร่างกายและจิตใจ น้อย 3. กลุ่มคนไข้ทางจิตเวชเดิม อาทิ คนไข้โรคจิตที่อาจมีอาการคุกคั่งได้ตรวจเวลา และ 4. กลุ่มที่มีการสูญเสียทั้งทางด้านทรัพย์สินและญาติพี่น้องในครอบครัว  อยากให้มีการคัดกรองบุคคลทั้ง 4 กลุ่มให้ชัด

Leave a Reply